สัดส่วนเงินออม ที่เราควรใช้เพื่อโอนความเสี่ยง

ในวันนี้ เราจะมาพูดถึงคำถามที่หลายๆคน ยังชั่งใจอยู่ ว่าจริงๆแล้ว เราควรโอนความเสี่ยงด้วยเงินเท่าไหร่กันแน่

เพราะบางที เจอตัวแทนประกัน เสนอแผนมาให้ ได้รับความคุ้มครองโน่นนี่นั่น เยอะแยะไปหมด ซึ่งจริงๆแล้ว ทุกเรื่องนั้น สำคัญหมด ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ทุพลภาพ อุบัติเหตุ โรคร้ายแรง ชดเชยรายได้ หรือแม้แต่ประกันชีวิต แต่พอมาดูเบี้ยประกัน ถึงกับหงายหลังไปเลยก็มี

ซึ่งถ้าเราตัดสินใจทำประกันแล้ว ปรากฏว่าเหลือเงินออมต่อเดือนแค่น้อยนิด ทำให้ไม่สามารถวางแผนเกษียณ หรือวางแผนเก็บเงินเพื่อเป้าหมายอื่นๆได้เลย ก็แสดงว่า เราทำประกันด้วยวงเงินที่สูงเกินตัว

แต่ถ้าเราตัดสินใจที่จะไม่ทำประกันเลย นั่นหมายความว่า เรายอมที่จะรับความเสี่ยงทั้งหมดเอาไว้เอง แล้วถ้าแจ็คพ็อต เกิดอะไรขึ้นมา ต้องดึงเงินเก็บมาใช้ กลายเป็นว่า เป้าหมายเกษียณ ต้องยืดระยะเวลาออกไป อาจจะนานขึ้นกว่าเดิมถึง 10 ปี

หรือเลวร้ายสุดๆ ไม่สามารถเกษียณได้เลยทั้งชีวิต เป็นภาระลูกหลาน

ในฐานะที่ปรึกษาการวางแผนการเงินแล้ว ผมขอแนะนำว่า หากในวันนี้ เรายังไม่สามารถเก็บเงินเพื่อรองรับกับความเสี่ยงแต่ละด้านไว้มากพอ เราจำเป็นที่จะต้องโอนความเสี่ยง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้แผนชีวิตเรามีความมั่นคง

ตัวเลขที่เหมาะสม ก็คือ 15 – 25% ของเงินออม และไม่ควรต่ำกว่า 10,000 บาท ต่อปี

ทำไมต้องเป็นตัวเลขนี้

เพราะถ้าน้อยกว่านี้ ก็จะไม่สามารถครอบคลุมความเสี่ยงได้รอบด้าน หรือได้วงเงินที่น้อยเกินไป

แต่ถ้ามากกว่านี้ จะทำให้เราเสียประโยชน์ในเป้าหมายการเงิน เช่นเป้าหมายเกษียณอายุ ที่เราทุกคนต้องแก่ตัวไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ยกตัวอย่างให้เห็นนะครับ หากเรามีแผนเก็บเงินเพื่อเกษียณให้ได้ 10 ล้าน ภายใน 30 ปีข้างหน้า เราจะต้องเก็บเงินเดือนละ 5,000 บาท และนำไปลงทุนให้ได้ 10% ต่อปี ทุกๆปี

แต่หากเกิดเจ็บป่วย เป็นมะเร็ง ในอีก 10 ปีข้างหน้า (เราจะมีเงินเก็บ 1 ล้าน) และต้องใช้เงินรักษา 1 ล้านบาท เพื่อรักษาให้หาย นั่นหมายความว่า เงินเก็บตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ต้องหายไปหมด ต้องเริ่มเก็บใหม่

แล้วถ้าซวยกว่านั้น เกิดอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ดันเป็นมะเร็งล่ะ ทีนี้เงินเก็บก็น้อยนิด ชีวิตอาจจะต้องติดลบกันไปเลย

กลับกัน หากเรากันเงินออกมา เดือนละ 1,000 บาท (20% ของ 5,000) เพื่อทำประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงไว้ (ซึ่งในอายุไม่เยอะ จะถูกมากๆ) ส่วนเงินอีก 4,000 ก็นำไปลงทุนเหมือนเดิม เพื่อเป็นเงินเกษียณ เราแค่ยืดระยะเวลาเกษียณออกไปอีกแค่ 2 – 3 ปี เท่านั้น ก็จะมีเงิน 10 ล้านบาท ได้เหมือนเดิม หรือถ้าอยากให้ระยะเวลาเท่าเดิม ก็แค่ออมเงินเพิ่มเดือนละนิดหน่อย

ถึงเป้าหมายช้าหน่อย แต่สบายใจ

ชีวิตเราจะมีความสุขขึ้นอีกเยอะ เชื่อผม

You may also like...