ประกันชีวิต

ก่อนที่เราจะซื้อประกันชีวิต เราควรจะมีการคำนวณเงินทั้งหมดที่เราต้องการเตรียมไว้ให้กับครอบครัว หากเราเป็นอะไรไปก่อน หลังจากนั้น ค่อยมาดูว่าสินทรัพย์ที่เรามีอยู่นั้น (เอาเฉพาะที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายๆ) มีอยู่ทั้งหมดเท่าไหร่ ถ้ายังไม่พอ ขาดอยู่เท่าไหร่ ค่อยเป็นวงเงินประกันชีวิตที่เราต้องการซื้อ

 

การคำนวณเงินที่ต้องการเตรียมให้กับครอบครัว

ถ้าเลือกได้ เราก็อยากให้ครอบครัวที่เรารัก มีทุนเลี้ยงตัวเองไว้ให้มากที่สุด หากเราไม่ได้อยู่ดูแลเค้าเหล่านั้นแล้ว แต่การจะเตรียมเงินมากมายอย่างที่เราต้องการ ณ ปัจจุบัน เราอาจจะยังมีไม่ถึง หรือถ้าต้องซื้อประกัน ค่าเบี้ยประกันก็คงสูงมาก คำถามก็คือ แล้วเราควรจะเตรียมเท่าไหร่ถึงจะพอดี หรือเพียงพอให้ครอบครัวดูแลตัวเองได้

หลักในการคำนวณ มีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน

 

  1. ตามความสามารถ

วิธีนี้ จะคิดเสมือนว่า หากเราจากไปก่อน ครอบครัวจะไม่มีผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ของเราเลย กล่าวคือ เสมือนว่ายังมีรายได้จากเราเลี้ยงอยู่ตลอด

วิธีคำนวณ ให้คิดว่า จากวันนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่เราเกษียณ เราจะสามารถหาเงินได้อีกเท่าไหร่ เงินจำนวนนี้ ก็จะเป็นค่าความสามารถของเราในอนาคตนั่นเอง

สมมติว่าเราได้เงินเดือนปัจจุบัน 20,000 บาท อีก 30 ปี จะเกษียณ คิดเป็นเงินทั้งหมด 20,000 x 12 x 30 = 7,200,000 บาท หรือถ้าจะรวมอัตราเงินเดือนเพิ่ม สมมติเป็น 5% ต่อปี ก็จะเป็นเงินประมาณ 8,400,000 บาท

จะเห็นได้ว่า เป็นเงินค่อนข้างสูงพอสมควร บางตำราเลยบอกว่า ให้คิดถึงแค่ ระยะเวลาที่ให้ครอบครัวสามารถตั้งสติ ตั้งตัว ออกไปทำงานได้ อาจจะ 5 ปี หรือ 7 ปี หรือ 10 ปี ก็แล้วแต่หัวหน้าครอบครัวจะวางแผน และกำลังซื้อของเรา

 

  1. ตามภาระค่าใช้จ่าย

วิธีคิดก็คือ ให้รวบรวมภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดออกมา ตามรายการด้านล่างนี้

  • ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัว x จำนวนปีที่อยากเลี้ยงดูครอบครัว
  • ค่าเล่าเรียนลูกจนจบการศึกษา
  • ภาระหนี้สินคงค้างทั้งหมด (เฉพาะหนี้สินที่ไม่มีประกันสินเชื่อ)
  • ค่าปลงศพ

รวมได้เท่าไหร่ ก็เป็นจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องการเตรียมให้กับครอบครัวนั่นเอง

 

สินทรัพย์ที่มีอยู่

เป็นสินทรัพย์ที่เราสามารถขาย หรือแปรเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย ให้ตีราคาที่จะขายได้ออกมาทั้งหมด แต่หากสินทรัพย์ใด ต้องการเก็บไว้เป็นมรดก หรือเก็บไว้ให้ครอบครัวใช้ ก็ไม่ควรนำมานับ เช่น บ้านที่อยู่อาศัย เพราะถ้าขายไป ครอบครัวก็จะไม่มีที่อยู่

ตัวอย่างเช่น เงินฝากธนาคาร กองทุน หรือหุ้นต่างๆ ที่ดิน (อาจจะขายยากหน่อย หรือถ้าจำใจขาย ก็อาจได้ราคาต่ำ ให้คิดที่ราคาที่คิดว่าจะขายได้ง่ายๆ)

ทั้งนี้ หากมีประกันชีวิตที่ทำไว้แล้ว ก็ให้นับรวมไว้ด้วย โดยดูจากทุนประกันชีวิตในกรมธรรม์

 

วงเงินประกันชีวิต

[notification type=”alert-danger” close=”false” ]

วงเงินประกันชีวิต = เงินที่ต้องการเตรียมให้ครอบครัว – สินทรัพย์ที่มีอยู่

[/notification]

ก็จะได้วงเงินประกันชีวิตที่ต้องการซื้อแล้วนะครับ ทีนี้เรามาดูว่า เราจะซื้อประกันชีวิตแบบไหนดี

 

ประเภทของประกันชีวิต

  1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) เป็นการรับประกันชีวิตตลอดอายุผู้เอาประกัน (ในทางการค้า 90-99 ปี)

ข้อดี – ใช้สำหรับประกันชีวิตจริงๆ เบี้ยประกันถูก และมีมูลค่าเงินสดในตัว หากยกเลิกสัญญาก่อนเวลาที่กำหนด จะมีเงินเหลือคืนบางส่วน อีกทั้งเบี้ยประกันทั้งหมด เอาไว้ลดหย่อนภาษีได้ (ไม่เกิน 100,000 บาท)

ข้อเสีย – ใช้เป็นเครื่องมือในการออมเงินไม่ได้ เพราะไม่มีเงินคืนระหว่างที่สัญญามีผลบังคับ ต้องเสียชีวิตเท่านั้น ถึงจะได้สินไหมทดแทนตามทุนประกัน

 

  1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term) เป็นกรมธรรม์ที่มีอายุจำกัด บริษัทจะจ่ายเงินสินไหมให้ผู้รับผลประโยชน์ หากผู้เอาประกันเสียชีวิตในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ แต่ไม่มีเงินคืนเมื่อครบอายุกรมธรรม์

ข้อดี – เบี้ยประกันถูกที่สุด ส่วนใหญ่ใช้สำหรับคุ้มครองสินเชื่อ เช่นบ้าน หรือเงินกู้ธุรกิจ เพราะใช้คุ้มครองเฉพาะช่วงระยะเวลาที่เราเป็นหนี้ เช่น 10 ปี หรือ 20 ปี เท่านั้น และเบี้ยประกันทั้งหมด เอาไว้ลดหย่อนภาษีได้ (เฉพาะกรมธรรม์ที่ระยะเวลาคุ้มครอง ตั้งแต่ 10ปี ขึ้นไปเท่านั้น และไม่เกิน 100,000 บาท)

ข้อเสีย – ไม่มีเงินคืน เป็นเบี้ยประกันที่จ่ายทิ้ง เพื่อคุ้มครองโดยเฉพาะ

 

  1. ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ (Endowment) เป็นกรมธรรม์ที่มีอายุจำกัด บริษัทจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้รับผลประโยชน์เมื่อเสียชีวิต แต่หากมีชีวิตครบอายุกรมธรรม์ก็จะมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้เอาประกัน

ข้อดี – ใช้เป็นเครื่องมือในการออมเงินได้ เพราะมีเงินคืนเมื่อครบสัญญา หรือบางแบบ จะให้เงินคืนระหว่างสัญญาด้วย เช่น ทุกๆ 2ปี 3ปี 5ปี เป็นต้น ส่วนใหญ่เอาไว้ใช้ลดหย่อนภาษี เพราะเบี้ยประกันทั้งหมด เอาไว้ลดหย่อนภาษีได้ (ไม่เกิน 100,000 บาท)

ข้อเสีย – ผลตอบแทนต่ำมาก หลายคนสับสนกับคำโฆษณา ที่บอกว่ามีเงินคืน เมื่อครบสัญญา รวม xxx% ของทุนประกัน ก็เข้าใจว่าผลตอบแทนมหาศาล ได้ตั้งร้อยกว่าสองร้อยเปอร์เซนต์ ทั้งที่จริงๆแล้วหากเทียบกับเงินลงทุนทั้งหมด และระยะเวลา ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นแบบเงินฝากธนาคารแล้ว แทบจะน้อยมาก ส่วนใหญ่ไม่ถึง 2% ต่อปี (น้อยกว่าฝากประจำอีกนะครับ) แต่แลกด้วยความคุ้มครองที่ได้ และถ้ารวมเรื่องประหยัดภาษีด้วย ถ้าฐานภาษีสูงๆ ก็อาจจะคุ้ม

 

  1. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) คล้ายกับแบบออมทรัพย์ โดยบริษัทประกันชีวิตจะเก็บเบี้ยประกันจนถึงอายุระดับหนึ่งแล้วทยอยจ่ายคืนเงินให้กับผู้เอาประกัน

ข้อดี – ใช้เป็นเครื่องมือในการออมเงินได้ เพราะมีเงินคืนให้ทุกๆปี เมื่อครบอายุที่กำหนด เอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ และยังได้ทุนประกันชีวิตด้วย อีกทั้งเบี้ยประกันทั้งหมด เอาไว้ลดหย่อนภาษีได้ (ไม่เกิน 200,000 บาท หรือ 15% ของรายได้ทั้งปี)

ข้อเสีย – ผลตอบแทนต่ำ และระยะเวลายาวนาน กว่าจะได้เงินคืน

 

  1. ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) เป็นการทำประกันชีวิตโดยได้ความคุ้มครองค่าความสามารถและในขณะเดียวกันก็ไม่เสียโอกาสในการลงทุนในกองทุนรวมที่ทางบริษัทประกันคัดสรรมาให้ผู้เอาประกันได้เลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่ผู้เอาประกันรับได้ โดยตัวแทนที่ทำหน้าที่นำเสนอขายแบบประกันนี้จะต้องมีใบอนุญาต IC License จาก กลต. ด้วย

ข้อดี – เลือกทุนประกันได้ ว่าจะเน้นทุนประกัน หรือเน้นลงทุน มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูง จากการลงทุนในกองทุน และมีความยืดหยุ่นสูง สามารถกำหนดระยะเวลาในการชำระเบี้ยได้ และสามารถคุ้มครองได้ยาวนาน เหมือนประกันแบบตลอดชีพ อีกทั้งสามารถขายหน่วยลงทุน นำเงินออกมาบางส่วนระหว่างสัญญาได้

ข้อเสีย – ผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน บริษัทไม่รับประกันผลตอบแทน ว่าจะได้เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับตลาด แต่ในความเห็นของผม หากระยะเวลาในการลงทุนมากพอ (เกิน 15 ปี ขึ้นไป) ความเสี่ยงจากการขาดทุนจะน้อยมาก

หากจะเลือกประกันชีวิตควบการลงทุน ควรจะมองที่ทุนประกันเป็นหลัก เพราะได้สูงกว่าประกันออมทรัพย์ (เทียบที่เบี้ยประกันเท่ากัน) ส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นเรื่องรอง

 

เห็นมั้ยครับว่า ประกันแต่ละแบบ ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป หากเราเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดครับ

มีข้อสงสัยใดๆเกี่ยวกับการวางแผนประกัน โทรมาปรึกษาได้ 094-545-1878 ยินดีตอบทุกข้อสงสัยครับ

[notification type=”alert-success” close=”false” ]

ประกันชีวิตไม่มีคำว่ามากพอ หากว่าเรารักครอบครัวมากพอ

[/notification]