การวางแผนจัดการหนี้สิน

ก่อนที่เราจะไปวางแผนด้านอื่นๆนั้น หากใครที่ยังมีหนี้สินอยู่ ก็ควรจะวางแผนชำระหนี้สินเหล่านี้ให้หมดไปก่อนเป็นอันดับแรก เพราะหนี้สิน ถือเป็นอุปสรรคตัวฉกาจในการเก็บออมของเรา คอยแต่จะดึงเงินออกจากกระเป๋าเราตลอดเวลา

แต่ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจก่อน ว่าจริงๆแล้ว หนี้ มีทั้งหนี้ที่ดี และหนี้ที่เลว ซึ่งแต่ละตัว คืออะไร

หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้ดี)

หลายคนคงเคยได้ยินว่า ใครๆก็ต้องมีหนี้ทั้งนั้น ดูอย่างคนรวยเป็นร้อยล้าน ยังมีหนี้ตั้งหลายล้าน

ใช่ครับ คนรวยเหล่านั้น ใช้หนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ กล่าวคือ หนี้สินที่กู้ยืมมานั้น ล้วนแล้วแต่นำไปใช้ในการขยายกิจการ หรือหมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งสร้างรายได้ มากกว่าที่ต้องชำระคืนหนี้รายเดือน ซึ่งหนี้เหล่านี้ เรียกว่าหนี้ดี คือหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้นั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น การกู้ซื้ออพาร์ทเมนท์ เพื่อเก็บค่าเช่า โดยที่ค่าเช่ารวมรายเดือน เมื่อหักรายจ่ายจากการผ่อนส่งธนาคารแล้ว ยังมีเงินเหลือ ไว้เป็นรายได้ให้กับเจ้าของ แบบนี้ถือว่าเป็นหนี้ที่ดี

หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้เลว)

หนี้ชนิดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นหนี้ที่กู้ยืมมาใช้จ่ายบริโภคทั้งสิ้น เช่น การผ่อนสินค้า การกู้ซื้อบ้าน เพื่ออยู่อาศัย กู้ซื้อรถยนต์ หรือแม้แต่บัตรเครดิต ที่ผู้ใช้ ยังต้องชำระขั้นต่ำ ก่อให้เกิดดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ซึ่งเป็นหนี้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แก่ตัวผู้กู้เลย มีแต่จะกลายเป็นรายจ่ายเพิ่มในแต่ละเดือนเท่านั้น

 

วางแผนจัดการหนี้เลวซะ

เมื่อเห็นแล้วว่า หนี้ที่เลว จะก่อให้เกิดแต่รายจ่ายเพิ่มเข้ามา เป็นอุปสรรคในการออมของเรา เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าเราจะต้องเลือกปิดหนี้สิน ก็ต้องวางแผนปิดหนี้ที่เลวก่อนเป็นอันดับแรก มาดูกันครับ ว่าขั้นตอนหลักๆ ในการจัดการกับหนี้เลว มีอะไรบ้าง

หยุดก่อหนี้เลว

อันดับแรก ต้องหยุดก่อหนี้เพิ่ม เพื่อไม่สร้างรายจ่ายเพิ่มให้กับเรานั่นเอง

ใครที่มีบัตรเครดิต ยังจ่ายขั้นต่ำอยู่ แล้วอดใจไม่ไหว เดี๋ยวก็รูด ก็ยกเลิกซะ หรือไม่ก็ตัดบัตรทิ้งเลย จะได้ไม่ต้องใช้อีก ขั้นตอนนี้สำคัญมากนะครับ ถ้าไม่สามารถทำได้ เราก็จะยังวนเวียนอยู่กับการชำระหนี้เรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น ไม่ต้องไปทำอย่างอื่นแล้ว

ใครที่ใช้วิธี กู้ตรงโน้น มาโปะตรงนี้ ยิ่งแย่ใหญ่ มีแต่จะสร้างดอกเบี้ย ทบไปทบมาไม่รู้จบ หยุดเลยนะครับ วินัยสำคัญมากสำหรับคนที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สิน

 

รู้ตัวเองว่าสามารถชำระหนี้ได้เดือนละเท่าไหร่

ขั้นตอนถัดมา ให้สำรวจตัวเองดูว่า ในแต่ละเดือน หลังจากหักค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็นแล้ว เราเหลือเงินเท่าไหร่ในแต่ละเดือน แล้วดูว่าจะแบ่งมาชำระหนี้ได้เท่าไหร่ แล้วถ้าทำได้ ควรแบ่งเงินออมไว้ด้วยก็จะดีครับ เดือนละนิดก็ยังดี สร้างวินัยในการออมไปในตัวด้วย และยังได้กำลังใจที่ดีอีกต่างหาก

 

จัดการเรื่องดอกเบี้ย และยอดชำระต่อเดือนก่อน

เมื่อรู้ความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองแล้ว ให้มาดูว่า เรามีหนี้กี่ตัว แต่ละตัวอัตราดอกเบี้ยกี่เปอร์เซนต์ และยอดชำระต่อเดือน ของแต่ละตัวเป็นเท่าไหร่

จากนั้นลองดูว่า ยอดรวมที่ต้องชำระต่อเดือน ทุกตัว เกินความสามารถในการชำระหนี้ของเราหรือไม่ ถ้าไม่เกินก็เยี่ยมเลย แต่ถ้าเกิน ก็ต้องมาดูกันแล้วว่า จะลดยอดชำระรายเดือน ของตัวไหนได้บ้าง

วิธีการก็คือ ให้นำหนี้ก้อนที่ดอกเบี้ยมากที่สุด เรียงลำดับมาเลย แล้วลองหาที่รีไฟแนนซ์ ไปยังธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า แล้วรวมหลายๆก้อน ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เฉพาะก้อนที่ดอกเบี้ยมากกว่าที่ใหม่นะครับ) ส่วนระยะเวลาชำระ จะนานขึ้นก็ไม่เป็นไรครับ ให้ดอกเบี้ยน้อยลง และยอดชำระต่อเดือน ลดลง จนเราสามารถชำระได้

 

เรียงลำดับหนี้ที่ระยะเวลาชำระเหลือน้อยที่สุดก่อน

ถัดมา ในกรณีที่ยอดชำระต่อเดือน น้อยลงแล้ว และต่ำกว่าความสามารถในการชำระหนี้ที่เราตั้งใจไว้ เช่น มีเงินชำระหนี้ 8,000 บาทต่อเดือน แต่หนี้โดยรวม ชำระแค่ 7,000 บาท ให้นำเงินที่เหลือ 1,000 ไปโปะหนี้ที่ระยะเวลาชำระเหลือน้อยที่สุดก่อน เพื่อจะได้หมดเร็วขึ้น

 

ปิดหนี้ได้แล้วบางตัว ให้นำเงินส่วนที่ชำระหนี้ตัวเก่า มาเพิ่มในหนี้ตัวถัดมา

เมื่อปิดหนี้ได้แล้วตัวหนึ่ง เงินที่เมื่อก่อน เคยต้องชำระตัวนี้ เช่น 2,000 ต่อเดือน ก็อย่าเอาไปใช้จ่ายนะครับ อดทนไว้ ให้นำไปโปะตัวถัดมา ที่ระยะเวลาชำระเหลือน้อยที่สุดอีก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราจะโปะหนี้ได้เร็วขึ้นเยอะเลยครับ

 

หนี้สินล้นพ้นตัว ทำยังไง

ในกรณีที่ ความสามารถในการชำระหนี้ ไม่พอกับยอดชำระต่อเดือนทุกตัวรวมกัน อีกทั้งยังปล่อยให้เครดิตเสียไปแล้วละก็ จะหาที่รีไฟแนนซ์ก็ทำไม่ได้แล้ว ก็ต้องใช้วิธีสุดท้ายครับ ซึ่งถ้าเลือกได้ ก็อย่าใช้วิธีนี้เลยจะดีกว่า แต่สำหรับคนที่ไม่ไหวแล้วจริงๆ ทุกอย่างรุมเร้า ก็ใจเย็นๆครับ ทุกอย่างมีทางออกของมันเสมอ อย่าได้คิดสั้น หรือทำอะไรที่ผิดกฏหมายบ้านเมือง

วิธีก็คือหยุดชำระหนี้ทุกตัว (ย้ำว่าทุกตัวนะครับ จะทวงยังไงก็ไม่จ่ายครับ เก็บไว้ ไม่ใช่เดี๋ยวเจ้านี้ทวง ก็ไปจ่าย เดี๋ยวเจ้านั้นทวง ก็ไปจ่าย) ให้อดทดไว้ แล้วเก็บเงินที่เหลือในแต่ละเดือนให้มากที่สุด ห้ามเอาไปใช้จ่ายเด็ดขาดนะครับ เมื่อหยุดชำระทุกตัว มีเงินเหลือ ให้เก็บเอาไว้

เก็บไว้ทำอะไร? ก็เก็บไว้เจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าหนี้ฟ้องร้อง หรือยื่นข้อเสนอต่อรอง เราจะได้มีเงินก้อน ไปปิด ไม่ใช่ว่าเบี้ยวหนี้ หนีไปเลยนะครับ เราเป็นหนี้ก็ต้องจ่าย แต่ทำยังไงให้เสียหายน้อยที่สุด

ในการเจรจา ก็อยู่ที่ความสามารถของแต่ละคนละครับ เหมือนเราซื้อของ ก็ยังต่อราคาเลย กรณีนี้ก็เช่นกัน ที่ต้องต่อรอง ก็คือ ดอกเบี้ยที่ค้างจ่ายทั้งหมด และยอดเงินต้นที่เราจะไปปิดนะครับ ว่าจะขอปิดที่เท่าไหร่

 

 

สุดท้าย ก็ขอให้ทุกคนสามารถชำระหนี้ได้หมดนะครับ อดทน และมีวินัย เราจะได้มาวางแผนอนาคตกัน

ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงาม สู้สู้ทุกคนครับ