เงินออม 3 ระยะ

เราได้พูดถึงหลักการวางแผนการเงิน ในด้านของลำดับความสำคัญไปแล้ว ว่าควรจะเลือกวางแผนด้านไหนก่อน ในหัวข้อ ปิระมิดทางการเงิน ซึ่งหากเราสามารถทำตามขั้นตอนเหล่านั้นได้ เราก็จะมีความมั่นคงทางการเงินอย่างแน่นอน

ในหัวข้อนี้ เราจะมาพูดถึงอีกมิตินึงของหลักการวางแผนการเงิน นั่นก็คือในเรื่องของระยะเวลาที่เราจะบรรลุแต่ละเป้าหมาย

การที่เราต้องดูเรื่องของระยะเวลา ก็เพราะว่า เราจะได้เลือกเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม สำหรับระยะเวลาที่เราต้องการ เพราะเครื่องมือแต่ละตัว จะมีระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้งานอยู่ หากใช้งานผิดวัตถุประสงค์แล้ว อาจเกิดความเสียหาย หรือไม่บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เลย

3-type-saving

จากในรูปข้างต้น เมื่อบริหารรายรับรายจ่าย จนมีเงินเหลือเก็บแล้ว เราจะนำไปแบ่งเป็นส่วนๆ เพื่อเก็บในเครื่องมือทางการเงินที่แตกต่างออกไป ตามวัตถุประสงค์ของระยะเวลา โดยเราจะแบ่งเป็น 3 ช่วง ก็คือ เงินออมระยะสั้น เงินออมระยะกลาง และเงินออมระยะยาว ทีนี้มาดูกันว่าแต่ละช่วง คืออะไร

 

เงินออมระยะสั้น (Short Term)

เป็นเงินออมที่เก็บเพื่อนำมาใช้ในช่วงระยะเวลา 0 – 2 ปี การที่เราเก็บเงินในระยะนี้ หมายความว่าจะต้องเป็นเป้าหมายบางอย่างที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เช่น เงินสำรองฉุกเฉิน (เพราะเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์ฉุกเฉินจะเกิดเมื่อไหร่ สามเดือนข้างหน้า หรือปีหน้า)

เครื่องมือที่เหมาะสม ต้องเป็นเครื่องมือที่สภาพคล่องสูง หรือ เบิกง่ายถอนง่าย เช่น เงินฝากออมทรัพย์ ฝากประจำ กองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องมือที่ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็ต่ำตามความเสี่ยง อยู่ที่ 0 – 3%

หากเราใช้เครื่องมือผิด เช่น เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน โดยออมในหุ้น (ความเสี่ยงสูง) ถ้าหากเราเกิดจำเป็นที่จะใช้เงินขึ้นมา แล้วตอนนั้นหุ้นตกอยู่ เราต้องขายขาดทุนออกมาใช้ ก็จะเกิดผลเสียได้ หรือไปออมโดยซื้อที่ดินไว้ ก็ไม่สามารถขายได้ทันที สภาพคล่องต่ำ เป็นต้น

 

เงินออมระยะกลาง (Mid Term)

เป็นเงินออมที่เก็บเพื่อนำมาใช้ในช่วงระยะเวลา 2 – 10 ปี เช่น เก็บเงินดาวน์บ้าน ดาวน์รถ แต่งงาน หรือวางแผนเก็บเงินเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ เป็นต้น

เครื่องมือที่เหมาะสม ต้องเป็นเครื่องมือที่สภาพคล่องปานกลาง ความเสี่ยงปานกลาง เช่น ตราสารหนี้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน สลากออมสิน LTF (จริงๆถ้าดูตามความเสี่ยง ควรอยู่ในระยะยาว แต่ด้วยลักษณะเฉพาะด้านเวลา ที่ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปี ปฏิธิน ถึงจะถอนได้ ก็สามารถจัดอยู่ในระยะกลางได้) ผลตอบแทนในระยะกลาง จะอยู่ที่ 3 – 5%

การที่เลือกใช้เครื่องมือเหล่านี้ เพราะมีระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล อายุ 5 ปี หรือหุ้นกู้เอกชน อายุ 7 ปี เป็นต้น และผลตอบแทน ก็ดีกว่าเงินออมระยะสั้น หากเราเอาไปฝากออมทรัพย์ ก็จะเสียโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ตัวอย่างเช่น เราวางแผนซื้อบ้านในอีก 5 ปีข้างหน้า แทนที่จะนำไปฝากออมทรัพย์ ก็นำไปซื้อหุ้นกู้ อายุ 5 ปี ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

 

เงินออมระยะยาว (Long Term)

เป็นเงินออมที่เก็บเพื่อนำมาใช้ในช่วงระยะเวลาเกิน 10 ปีขึ้นไป เช่น เงินออมเพื่อเกษียณ เงินออมเพื่อการศึกษาบุตรปริญญาตรี เป็นต้น

เครื่องมือที่เหมาะสม สามารถเป็นเครื่องมือที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้นพื้นฐานดี กองทุนหุ้นต่างๆ ทองคำ RMF (Retirement Mutual Fund) ประกันออมทรัพย์ระยะยาว ประกันบำนาญ เป็นต้น

ผลตอบแทนก็จะหลากหลาย ขึ้นอยู่กับจังหวะ และระยะเวลา ส่วนมากแล้ว เกิน 5% ขึ้นไป (ยกเว้นประกันออมทรัพย์ ประกันบำนาญ เพราะถ้าคิดเฉลี่ยทบต้นต่อปี จะไม่สูงมาก แลกกับความเสี่ยงที่ต่ำ แต่ด้วยระยะเวลาที่ต้องออมนาน ไม่สามารถนำเงินออกมาได้ ก็จัดอยู่ในหมวดระยะยาว)

ข้อดีของเงินออมระยะนี้ คือ สามารถทนต่อความเสี่ยง หรือความผันผวนในราคาทรัพย์สินที่เลือกลงทุน เพราะระยะเวลายาวนาน

หากเงินออมที่ควรจะเก็บยาวๆ แต่นำไปใส่ในเครื่องมือระยะกลาง ก็จะเสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดี แถมมีเรื่องของ ความเสี่ยงที่จะนำเงินกลับมาลงทุนใหม่ เช่น หุ้นกู้ 5 ปี ก็ได้เงินคืน แต่เรายังไม่จำเป็นต้องใช้เงินตอนนั้น ก็ต้องหาเครื่องมือตัวใหม่ แล้วบางที เกิดตอนนั้น อยากได้โน่นได้นี่ ก็นำเงินที่ได้นี้ไปซื้อ กลายเป็นว่า มีโอกาสสูญเงินเนื่องจากกิเลสของเรานั่นเอง ทางที่ดี เลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับระยะเวลาการใช้เงินนั้น จะดีที่สุดนะครับ

[notification type=”alert-success” close=”false” ]การวางแผนเงินออมเป็นช่วงๆตามระยะเวลานี้ ก็เพื่อให้เราได้รับผลตอบแทนสูงที่สุด และในทุกช่วงชีวิตของเรา เราจะไม่มีวันขาดเงินเลยนั่นเอง[/notification]

ในหัวข้อถัดไป จะมาพูดถึงการวางแผนในเรื่องแรกสุด นั่นก็คือ การวางแผนเงินสำรองฉุกเฉิน