บริหารเงินด้วยงบการเงินส่วนตัว

ขั้นตอนแรกของการวางแผนการเงิน คือ เราต้องบริหารรายรับรายจ่ายของเรา ให้มีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือนก่อน เพราะถ้าเรายังใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้รับ เราก็คงไม่สามารถวางแผนเก็บออมได้

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักในแต่ละหมวดก่อนนะครับ

 

รายได้

เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกเลย เพราะเป็นแหล่งที่มาของเงินออมของเรานั่นเอง โดยเราสามารถแบ่งรายได้ออกเป็นแต่ละรายการดังนี้

รายได้จากงานประจำ หรือธุรกิจส่วนตัว

เป็นรายได้จากการที่เราต้องออกแรงทำงาน ถ้าเราไม่ทำงาน รายได้เหล่านี้ ก็จะไม่เกิดขึ้น

รายได้จากทรัพย์สิน

เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผลหุ้น เป็นรายได้ที่เกิดจากดอกผลของทรัพย์สินที่เรามีอยู่ โดยที่เราไม่ต้องออกแรงทำงาน (ไม่ต้องทำอะไร ก็มีเงินใช้ ประมาณนี้นะครับ)

รายได้อื่นๆ

ที่อาจจะไม่ได้เป็นประจำทุกเดือน เช่น เงินโบนัส เงินคืนภาษี เป็นต้น ถ้าจะมารวมเป็นรายรับในแต่ละเดือน ให้เฉลี่ยเป็นรายเดือนออกมาได้

 

รายจ่าย

รายจ่าย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท เพื่อให้เราบริหารจัดการได้ง่าย

รายจ่ายคงที่

เป็นรายจ่ายที่เราต้องจ่ายแน่ๆ เป็นประจำทุกเดือน โดยจ่ายในอัตราเท่ากันทุกเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ผ่อนสินค้าต่างๆ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าภาษี (กรณีพนักงานประจำ และโดนหัก ณ ที่จ่าย เท่ากันทุกเดือน) โดยรายจ่ายหมวดนี้ เราไม่สามารถบริหารจัดการได้เลย (ไม่สามารถปรับลดได้ ต้องจ่ายแน่ๆ) หรือทำได้ก็คือ ตัดทิ้งไป ถ้าไม่จำเป็น (เช่น ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต ขายบ้าน ขายรถทิ้ง)

รายจ่ายผันแปร

เป็นรายจ่ายที่เราบริหารจัดการได้ เช่น ค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าน้ำมันรถ ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆ ซื้อของเข้าบ้าน เป็นต้น โดยเราสามารถเลือกวิธีการ เช่น การกิน การเดินทาง พฤติกรรมการขับรถ ต่างๆ ที่สามารถลดรายจ่ายลงได้ บางมื้ออาจจะกินประหยัด ทำอาหารกินเอง ทานข้าวนอกบ้านน้อยลง ลดการดูหนังในโรงภาพยนตร์ งดกาแฟ บุหรี่ เหล้า เป็นต้น

 

จ่ายให้ตัวเองก่อน

หลายๆท่านคงคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า รายได้ หักรายจ่าย ที่เหลือก็คือเงินออม แต่ในความเป็นจริง เรามักใช้จ่ายจนลืมตัว เห็นว่ามีเงินเหลือในบัญชี ก็ใช้ไป จนสุดท้าย ไม่เหลือเก็บ

หลักการที่ใช้ เพื่อให้เรามีเงินเหลือออม ง่ายๆก็คือ จ่ายให้ตัวเองก่อนอันดับแรก หมายความว่า ให้คิดเสมือนว่า เงินออม คือรายจ่ายอย่างนึง ที่เราต้องให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก (จ่าย ให้ตัวเราสบายในอนาคต)  อย่าเพิ่งไปสนใจรายจ่ายอย่างอื่น ให้เรานึกว่า ในแต่ละเดือน เราอยากออมให้ได้เท่าไหร่ หลังจากหักเงินออมไว้แล้ว เงินส่วนที่เหลือ คือรายจ่ายอย่างอื่น ที่เราสามารถใช้ได้ คิดตามสูตรนี้เลยครับ

[notification type=”alert-success” close=”false” ]

รายได้ – เงินออม = รายจ่าย

[/notification]

ถ้าจะทำให้ได้ตามนี้ เวลาเงินเดือนออก หรือมีรายได้เข้ามา ก็ให้หักเก็บไว้ในบัญชีแยกต่างหากไว้เลย ที่เหลือค่อยเอาไปใช้จ่าย เห็นมั้ยครับ ง่ายๆแค่นี้เอง

 

ขั้นตอนการทำงบประมาณรายรับรายจ่าย

วิธีง่าย และสะดวก ในการทำรับรายจ่าย ก็คือการใช้เครื่องมือที่ธรรมดาๆ อย่างโปรแกรมไมโครซอฟท์ เอ็กเซล (Microsoft Excel) เพราะสามารถรวมผลลัพธ์ได้ทันทีที่เราแก้ไขตัวเลขในแต่ละรายการ ไม่ต้องมานั่งบวกลบ เวลาเราปรับรายจ่ายขึ้นๆลงๆ

(ผมได้ทำแบบฟอร์มในการจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่ายอย่างง่ายๆไว้ใน Excel ไปดาวน์โหลดมาลองใช้ได้เลยครับ –> ดาวน์โหลดงบประมาณรายรับรายจ่าย)

การจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่าย มีขั้นตอนหลักๆดังต่อไปนี้

  1. ร่างรายการที่เป็นรายรับออกมาก่อน
  2. ใส่รายการเงินออมที่อยากเก็บในแต่ละเดือน
  3. ร่างรายการที่เป็นรายจ่าย ว่ามีอะไรบ้าง แต่ละรายการเท่าไหร่ โดยแยกเป็นรายจ่ายคงที่ กับรายจ่ายผันแปร ตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น
  4. บวกลบผลลัพธ์สุทธิที่ได้ทุกรายการ เพื่อดูว่าเหลือเงินอีกรึเปล่า โดยคิดตามนี้ครับ “เงินเหลือสุทธิ = ผลรวมรายได้ – เงินออม – ผลรวมรายจ่าย”
  5. ถ้าเงินเหลืออีก ก็ถือเป็นกำไร อาจจะเอาไปเก็บออมเพิ่ม หรือเก็บไว้สำรองฉุกเฉินได้
  6. ถ้าเงินไม่เหลือ แต่ติดลบ ให้พิจารณารายจ่ายผันแปร ว่ามีรายการไหนที่สามารถปรับลดได้อีก หรือรายการไหนที่ไม่จำเป็น ตัดออกได้
  7. ถ้าสุดท้าย ทำยังไงก็ยังติดลบอีก ก็คงต้องปรับลดเงินออมลงมา ให้พอดี
  8. สุดท้ายจริงๆ ถ้าเงินออมเป็นศูนย์ หรือถ้าตัดเงินออมออกแล้ว ก็ยังติดลบ แสดงว่าอาการหนัก ต้องรีบหาทาง หารายได้เพิ่มได้แล้วครับ

หลักการนี้ เป็นหลักการเบื้องต้น ที่ทำได้ง่ายๆ ลองไปทำดูนะครับ ทีนี้ พอมีเงินเหลือออมแล้ว เราก็จะมาบริหารเงินออมของเรา ตามเป้าหมายต่างๆ ในขั้นตอนถัดไปเราจะมาดู หลักการวางแผนการเงิน ว่าเค้าทำกันยังไงนะครับ

ขอให้สนุกกับการเก็บออมนะครับทุกคน