การจัดการความเสี่ยง

ความเสี่ยงที่เราจะพูดถึงในเรื่องการวางแผนการเงินนั้น ก็คือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่หากเกิดขึ้นแล้ว จะมีผลกระทบต่อการเงินของครอบครัว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ขอแบ่งง่ายๆออกเป็น 2 ประเภทนะครับ

[list]
[li]ความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิต[/li]
[li]ความเสี่ยงต่อทรัพย์สิน[/li]
[/list]

การจัดการความเสี่ยง มีด้วยกัน 2 ทาง ก็คือ รับความเสี่ยงไว้เอง หรือไม่ก็โอนความเสี่ยงให้คนอื่น (บริษัทประกัน)

 

รับความเสี่ยงไว้เอง

หากเราเลือกที่จะรับความเสี่ยงไว้เอง นั่นหมายความว่า หากเกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้น เราได้เตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว ในที่นี้ ก็คือการเตรียมเงินไว้รับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

โดยส่วนมาก การรับความเสี่ยงไว้เอง จะใช้กับความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความเสียหายไม่มากนัก เช่น ค่ารักษาพยาบาล ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยนอก ค่ารักษาอาจจะไม่เยอะ ส่วนมาก เราสามารถใช้เงินสำรองฉุกเฉิน หรือเลือกออมเงินบางส่วนไว้ เผื่อต้องหาหมอ เป็นต้น แบบนี้ ความเสียหายไม่มาก เราเตรียมรับมือไว้เองได้

 

โอนความเสี่ยงให้บริษัทประกัน

การโอนความเสี่ยงให้คนอื่นรับผิดชอบ หรือโอนความเสี่ยงด้วยประกัน ก็จะต้องแลกมาด้วยค่าธรรมเนียมบางอย่าง ซึ่งค่าธรรมเนียมเหล่านี้ บริษัทประกัน จะนำไปบริหารจัดการ ยิ่งมีผู้มาทำประกันเยอะเท่าไหร่ ก็จะช่วยเฉลี่ยความเสี่ยงได้ดีเท่านั้น เกิดเหตุการณ์ที่รับประกันขึ้น ก็นำเงินไปชดเชยให้ ตามสัญญาที่ได้ทำกันไว้

วิธีนี้ ใช้รับมือกับความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงินรุนแรง เช่น ประกันไฟไหม้บ้าน, ประกันโรคร้ายแรง, ประกันชีวิต (สูญเสียรายได้ต่อครอบครัว) เป็นต้น ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแล้ว เราต้องจ่ายค่าซ่อมแซม หรือค่ารักษาเป็นจำนวนมาก หากรับความเสี่ยงไว้เอง ก็ต้องเตรียมเงินไม่น้อยเลยทีเดียว การเลือกเสียค่าธรรมเนียมจำนวนไม่มาก แต่ได้ความคุ้มครองที่สูง ก็เป็นทางเลือกที่นิยมทำกันโดยทั่วไป

แต่ต่อให้เราทำประกันไว้อย่างไร การใช้ชีวิตที่ไม่ประมาท ก็ดีที่สุดนะครับ พยายามลดความเสี่ยง หรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นกับเราและครอบครัว เช่น ขับรถให้ช้าลง กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น

(ผมได้ทำแบบฟอร์มในการวางแผนจัดการความเสี่ยงอย่างง่ายๆไว้ใน Excel เรื่องแผนการเงินส่วนบุคคล ไปดาวน์โหลดมาลองใช้ได้เลยครับ –> ดาวน์โหลดแผนการเงินส่วนบุคคล)

เมื่อเราเตรียมรับมือกับความเสี่ยงได้แล้ว ถัดไป เราก็มาดูถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆก็คือ ความแก่ชรา เราจะมาเตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆสำหรับวัยเกษียณ ด้วยการวางแผนเกษียณกันเถอะครับ