ชดเชยรายได้

ถ้าหากว่ามีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นกับเรา  แล้วส่งผลให้เราต้องหยุดทำงาน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุการเจ็บป่วย การพักรักษาตัวจากอุบัติเหตุ หรือทุพลภาพชั่วคราว หรือถาวร ทุกกรณีล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางการเงินทั้งสิ้น ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการพักรักษาตัว และในบางคนที่ทำงานส่วนตัว หรือเป็นลูกจ้างแต่ต้องหยุดงานนานๆ บริษัทก็อาจจะเลิกจ้าง ทำให้ขาดรายได้จากการหยุดงานไป

ค่าใช้จ่ายในการรักษา เราอาจจะทำประกันสุขภาพ อุบัติเหตุไว้ หรือบางคนใช้ประกันสังคม หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็อาจจะพอช่วยได้บ้าง

แต่ถ้าเป็นเรื่องของการขาดรายได้ จะทำอย่างไร

หากเป็นกรณีที่หยุดงานชั่วคราว ก็คงไม่เป็นปัญหามากนัก ถ้าเรามีการวางแผนเงินสำรองฉุกเฉินไว้เป็นอย่างดี ก็สามารถมีเงินพอเลี้ยงตัวเองไปได้ 3 – 6 เดือน แล้วแต่ว่าจะเตรียมสำรองไว้มากน้อยแค่ไหน

แต่ถ้าเป็นการขาดรายได้ถาวร เช่น ทุพลภาพถาวร หรือขาดรายได้ชั่วคราวเป็นเวลานานๆ เช่น เป็นโรคมะเร็ง ต้องพักรักษาตัว 1 – 2 ปี ถ้าหาย ก็กลับไปทำงานได้ เป็นต้น กรณีแบบนี้ จะทำอย่างไร

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า กรณีแบบนี้ แตกต่างจากการเสียชีวิต ตรงที่ว่า เรายังมีชีวิตอยู่ ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเราเองเพิ่มเข้ามา และประกันชีวิตที่ทำไว้ ก็ยังไม่จ่ายเงิน จนกว่าเราจะเสียชีวิต

ตรงนี้เอง ที่ประกันอีกประเภทหนึ่ง ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับรายได้ที่ขาดหายไป ขอเรียกว่าเป็นประกันชดเชยรายได้ ซึ่งจะแยกออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน

 

ประเภทของประกันชดเชยรายได้

  1. ชดเชยรายได้รายวัน ในการรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ประกันประเภทนี้ จะจ่ายค่าสินไหมให้เราโดยคิดตามจำนวนวันที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และค่าชดเชยต่อวัน เช่น ทำประกันชดเชยรายได้ วันละ 1,000 บาท เข้ารักษาตัว 5 วัน บริษัทจะจ่ายเงินสินไหมชดเชยให้ 5,000 บาท ผู้ที่เหมาะจะทำประกันประเภทนี้ คือผู้ที่ได้รายได้เป็นรายวัน เช่น ลูกจ้างรายวัน พ่อค้าแม่ค้า ที่ขาดรายได้ถ้าไม่เปิดร้านขายของ หรือแม้แต่เจ้าของกิจการ ที่รายได้จะมีผลกระทบ ถ้าหากเจ้าของต้องหยุดทำงาน เป็นต้น

 

  1. ชดเชยรายได้จากการทุพลภาพชั่วคราว

หากต้องกลับมารักษาตัวที่บ้านต่อ ประกันประเภทแรก จะไม่คุ้มครอง เช่น ขาหัก ต้องกลับมารักษาตัวที่บ้านต่ออีก 2 เดือน ถือได้ว่าเป็นการทุพลภาพชั่วคราว (2 เดือน) กรณีแบบนี้ ทำให้ต้องหยุดพักนานหลายสัปดาห์ ขาดรายได้ ประกันที่คุ้มครองเรื่องนี้ จะคุ้มครองเฉพาะกรณีอุบัติเหตุอย่างเดียว และจะชดเชยให้ เป็นรายสัปดาห์ แต่ถ้าเป็นโรค จะไม่คุ้มครอง (เป็นโรค ไม่ถือว่าเป็นทุพลภาพ)

 

  1. ชดเชยรายได้จากการทุพลภาพถาวร

ประกันประเภทนี้ ก็จะจ่ายค่าสินไหมเลี้ยงดูเรา ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 10 ปี โดยชดเชยให้เป็นรายปี หรือรายเดือน แล้วแต่แบบประกัน และคุ้มครองเฉพาะกรณีอุบัติเหตุเท่านั้น

แต่จะมีอีกประเภทหนึ่ง คือประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง ซึ่งส่วนมาก จะรวมในเรื่องของทุพลภาพถาวรด้วย ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ หรือเส้นเลือดในสมองแตก อัมพาต ก็คุ้มครอง ซึ่งจะจ่ายเป็นเงินชดเชยล่วงหน้าให้ ตามทุนประกันที่ทำไว้

 

[notification type=”alert-info” close=”false” ]

หลายๆคน ลืมนึกถึงในเรื่องการขาดรายได้ จากกรณีต่างๆที่กล่าวไว้ข้างต้น เลยมองข้ามไป ไม่ได้เตรียมตัวไว้ดีพอ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง ก็ก่อให้เกิดผลกระทบทางการเงินมากมาย เพราะฉะนั้น การวางแผนการเงิน เราจะต้องอุดรอยรั่วเหล่านี้ให้หมด ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องซื้อประกันไปซะทุกเรื่อง แต่ให้คิดหาทางรับมือ จะด้วยการเตรียมไว้เอง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุโดยง่าย ก็ถือเป็นการจัดการความเสี่ยงอย่างหนึ่งนั่นเอง

ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาทกันนะครับ

[/notification]