ปิระมิดทางการเงิน

เมื่อมีเงินเหลือเก็บแล้ว เราทุกคนล้วนมีเป้าหมายทางการเงินหลักๆที่สำคัญอยู่ไม่กี่อย่าง เงินเก็บในแต่ละเดือน ก็จะถูกนำมาเติมเต็มเป้าหมายแต่ละอย่าง บางคนเงินเหลือเยอะ สามารถวางแผนบรรลุเป้าหมายได้ทุกอย่างในเวลาเดียวกัน แต่บางคนไม่ใช่ เพราะฉะนั้น คำถามคือ ถ้าเราวางแผนทุกด้านในเวลาเดียวกันไม่ได้ แล้วเราควรเริ่มต้นจากเป้าหมายใดก่อน

หลักการวางแผนการเงินสากล ให้ยืดถือปิระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) เป็นหลัก โดยให้เริ่มวางแผนจากรากฐานของปิระมิดขึ้นไป เพื่อที่เราจะได้มีพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่ง ก่อนที่จะไปสู่การลงทุนเพิ่มความมั่งคั่งในท้ายที่สุด

 

pyrimid

ความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Need)

คือการบริหารรายรับรายจ่ายให้เพียงพอกับความต้องการพื้นฐานในชีวิต เช่น ค่าใช้จ่ายในการกิน ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เรื่องนี้เราได้พูดถึงไปแล้วในหัวข้อ บริหารเงินด้วยงบการเงินส่วนตัว

แต่ในที่นี้ ขอเพิ่มส่วนที่สำคัญต่อมาก็คือ การเก็บออมไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินจริงๆ เช่น ตกงาน โดยเบี้ยวค่าจ้าง ต้องหางานใหม่ หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น เงินสำรองฉุกเฉิน จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ ก่อนที่เหตุการณ์ฉุกเฉินจะผ่านพ้นไปในที่สุด

หลักการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินก็คือ ให้เก็บอย่างน้อย 3 – 6 เท่า ของรายจ่ายต่อเดือน เช่น รายจ่ายต่อเดือนทั้งหมด 20,000 บาท ก็ควรวางแผนเก็บเงินสำรองให้ได้ทั้งหมด 60,000 – 120,000 บาท แล้วแต่อาชีพ และความเสี่ยง เช่น อาชีพที่หางานได้ง่าย ก็อาจพิจารณาเก็บแค่ 3 เท่า เป็นต้น

 

ปกป้องคุ้มครอง (Protection)

เป็นการวางแผนเพื่อรองรับกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่จะกระทบกับการเงินของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของหัวหน้าครอบครัว การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ทุพลภาพ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ หากเราไม่วางแผนรับมือไว้ ถ้าเกิดขึ้นกับเราจริง จะกระทบกับการเงินของครอบครัวแน่นอน ความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับแต่ละเหตุการณ์

ยกตัวอย่างเช่น หากหัวหน้าครอบครัว ที่เป็นคนหารายได้ จากไปก่อนวัยอันควร ทิ้งภาระค่าใช้จ่ายของครัวครัวไว้ เงินที่เคยเก็บสะสมมา ก็จะถูกนำมาใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว แล้วถ้าเตรียมไว้ไม่พอ ครอบครัวก็ลำบากแน่นอน

หรือหากเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่นโรคมะเร็ง ที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง เงินที่เคยเก็บไว้ใช้เป็นการศึกษาลูก หรือเงินเกษียณ ก็ต้องนำมารักษามะเร็งก่อน ถ้ารักษาหาย แต่ต้องมานั่งเก็บเงินเกษียณ หรือการศึกษาลูก โดยนับ 1 ใหม่ คงไม่ดีแน่

เรื่องการวางแผนปกป้องคุ้มครองนี้ จะพูดถึงอีกทีในหัวข้อ การจัดการความเสี่ยง

 

เก็บสะสม หรือเก็บออม (Accumulation)

เมื่อเราได้วางแผนปกป้องความมั่งคั่งแล้ว ก็มาถึงเรื่องการเก็บสะสม เพื่อเป้าหมายทางการเงินในอนาคต เช่น การวางแผนการศึกษาบุตร การวางแผนเกษียณ ตลอดจนการวางแผนภาษี เพื่อให้เรามีเงินเหลือเก็บออมได้เพิ่มขึ้น

จะเห็นได้ว่า หากเราวางแผนปกป้องความมั่งคั่งของเราแล้ว หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จะไม่กระทบกับการวางแผนเก็บเงินของเราเลย เงินที่เราเก็บไว้เพื่อการศึกษาบุตร หรือเกษียณ ก็จะยังคงมีอยู่ ไม่หายไปไหน ใช้ชีวิตได้อย่างอุ่นใจใช่มั้ยครับ

 

การลงทุน (Investing)

ในการวางแผนการลงทุนนั้น ควรทำหลังจากที่เรามีเงินเหลือจริงๆ (หลังหักเงินออมเพื่อการศึกษาบุตร และเงินเกษียณแล้ว ก็ยังมีเงินเหลืออีก) เพื่อที่ว่า หาการลงทุนมีความผิดพลาด เป้าหมายอื่นๆของเราก็จะไม่กระทบไปด้วย

การลงทุน ทำไปก็เพื่อการเพิ่มพูนความมั่งคั่งของเรานั่นเอง ไว้ส่งต่อเป็นมรดกให้กับลูกหลานต่อไป หรือเอาไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่เราอยากได้ เอาไว้ใช้ชีวิตที่เราฝันไว้ เป็นการเติมเต็มชีวิตอีกทางหนึ่ง แต่ไม่มี ก็ไม่เป็นไร เพราะเราได้วางแผนที่จะเกษียณไว้แล้ว เป็นต้น

การลงทุนที่ดี ควรเป็นการลงทุนในระยะยาว โดยที่เราสามารถใส่เงินเข้าไป แล้วปล่อยทิ้งไว้ได้ในระยะยาว โดยไม่ต้องบริหารจัดการมากนัก สิ่งที่คาดหวังผลจากการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ หรือกำไรจากการดำเนินธุรกิจที่เราลงทุนไว้นั่นเอง

 

การเก็งกำไร (Speculating)

การเก็งกำไร เป็นการลงทุนเพื่อหวังกำไรจากส่วนต่างของราคา เช่น การซื้อที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เพื่อหวังขายต่อให้ได้ราคามากขึ้น โดยส่วนใหญ่การเก็งกำไร จะทำให้ระยะเวลาไม่นานมากนัก เพราะทรัพย์สินส่วนใหญ่มีค่าเสื่อมราคาโดยตัวมันเอง เช่น รถยนต์ อาคาร หรือแม้แต่ที่ดิน ก็มีวัฎจักรของมัน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในเรื่องของทำเล เป็นต้น

การเก็งกำไรที่เห็นได้บ่อยๆ คือการเก็งกำไรในราคาหุ้น โดยผู้ซื้อ หวังซื้อได้ในราคาถูก และขายได้ในราคาที่แพงขึ้น โดยความเสี่ยงในราคาหุ้น ไม่ได้อยู่ที่การเสื่อมราคา แต่อยู่ที่ปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการบริษัท และการคาดหวังราคาของผู้ถือหุ้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน เป็นต้น

การเก็งกำไร ควรทำเป็นอันดับสุดท้าย เมื่อมีเงินเหลือจริงๆ เพราะการเก็งกำไรมีความเสี่ยงสูงที่สุด และเราควบคุม หรือบริหารจัดการได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกมากเกินไป

 

[notification type=”alert-warning” close=”false” ]

เราไม่จำเป็นต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จก่อนเสมอไป ในการวางแผนการเงินนั้น เราสามารถทำพร้อมๆกันในแต่ละเป้าหมายได้ แค่เราแบ่งเงินออมออกเป็นส่วนๆ เพื่อใส่เข้าไปในแต่ละเป้าหมาย การทำลักษณะนี้ จะช่วยในแง่ของกำลังใจ โดยเราจะเห็นเงินออมในแต่ละส่วน ค่อยๆเติบโตขึ้น เห็นแล้วก็จะภูมิใจ และอุ่นใจ

ยกตัวอย่างเช่น หากเราออมเงินได้ 10,000 ต่อเดือน ก็แบ่ง 2,000 เก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน 3,000 เก็บไว้เป็นการศึกษาบุตร 3,000 เก็บไว้เป็นเงินเกษียณ อีก 2,000 ใช้ในการโอนความเสี่ยงด้วยประกัน เป็นต้น

[/notification]