ค่ารักษาพยาบาล

ในปัจจุบัน ค่ารักษาพยาบาลมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเทียบเป็นอัตราการเติบโต ก็สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในหมวดอื่นๆค่อนข้างเยอะ คิดประมาณที่เกือบ 10% ต่อปี แล้วถ้าเราต้องเตรียมรับมือด้วยตัวเอง ก็อาจต้องเตรียมเงินไว้จำนวนมาก

อย่าลืมนะครับ ค่าผ่าตัด แค่ไส้ติ่ง เดี๋ยวนี้ก็ปาไปหลายหมื่นแล้ว ถ้าเป็นการผ่าตัดใหญ่ๆล่ะ จะขนาดไหน

เพราะฉะนั้น การโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกัน ในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล ก็เป็นคำตอบที่หลายคนให้ความสนใจมากในปัจจุบัน เพราะลำพังแค่สวัสดิการบริษัท ที่เป็นประกันกลุ่ม ก็คงไม่พอ หากแจ๊กพ็อตจริงๆ

ประกันสังคม หรือ 30 บาท รักษาทุกโรค ก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

แต่เราก็รู้ๆกันดีอยู่ ว่าการบริการ ยาที่ได้ หรือบางทีต้องรอคิวนานๆ ห้องพักเต็ม เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วก็ไม่แน่นะครับ กองทุนพวกนี้ เราจะไว้ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ล้มเลิกไปในอนาคตอันใกล้ หรือมีเงินไม่พอมาจ่ายให้กับประชาชนเมื่อไหร่ ถ้าเลือกได้ และมีกำลังพอ เรากำหนดชะตาชีวิตของเราเองดีกว่าครับ

 

ประกันสุขภาพคืออะไร

ประกันสุขภาพ (รวมถึงประกันอุบัติเหตุด้วย) เป็นประกันที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เรา หากเราต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยเงินที่บริษัทประกันจ่าย จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง จากการรักษาเท่านั้น

เบี้ยประกันสุขภาพ จะเป็นเบี้ยที่จ่ายเพื่อคุ้มครองปีต่อปี ไม่มีกำหนดระยะเวลา เราจะยกเลิกปีไหนก็ได้ เพราะประกันสุขภาพ ไม่มีเงินคืนให้ แต่การที่จะทำประกันสุขภาพได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่มีประวัติการรักษาต่อเนื่อง หรือถ้าเคยมีประวัติการรักษา ต้องรักษาหายแล้วเท่านั้น มิฉะนั้น บริษัทอาจพิจารณาไม่รับประกัน หรือคุ้มครองเฉพาะโรคที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน

 

ประเภทของประกันสุขภาพ

  1. ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก

เป็นประกันที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกให้เรา (ผู้ป่วยนอกคือ ผู้ป่วยที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาล แล้วกลับบ้าน ไม่มีการนอนพักที่โรงพยาบาล) ส่วนมากจะกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายต่อครั้ง เช่น วันละ 1,000 บาท ถ้าเกินจากนี้ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง เป็นต้น

 

  1. ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน

เป็นประกันที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในให้เรา (ผู้ป่วยใน คือผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยนอนพักที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน) โดยจะแบ่งหมวดหมู่ค่ารักษาพยาบาลออกเป็นหลายหมวดด้วยกัน และมีเพดานกำหนดค่าใช้จ่ายในแต่ละหมวด ถ้าหมวดใดหมวดหนึ่งมีค่ารักษาเกินจากเพดานที่กำหนด จะต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนเกินเอง ส่วนมากแล้ว จะแบ่งหมวดหลักๆดังนี้

  • ค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการพยาบาลต่อวัน เช่น 2,800 บาท/วัน
  • ค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการพยาบาล กรณี ICU เช่น 5,600 บาท/วัน
  • ค่าแพทย์ตรวจรักษาพยาบาลประจำวันต่อวัน เช่น 1,000 บาท/วัน
  • ค่าแพทย์ผ่าตัด หรือหัตถการ ต่อครั้งต่อโรค เช่น 60,000 บาท/ครั้ง/โรค
  • ค่าแพทย์วิสัญญี หรือหมอวางยาสลบในห้องผ่าตัด ต่อครั้งต่อโรค เช่น 6,000 บาท/ครั้ง/โรค
  • ค่าห้องผ่าตัดและอุปกรณ์ ต่อครั้งต่อโรค เช่น 5,500 บาท/ครั้ง/โรค
  • ค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ ต่อครั้งต่อโรค เช่น 20,000 บาท/ครั้ง/โรค
  • ค่าตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาและการตรวจในห้องแลป ต่อครั้งต่อโรค เช่น 3,000 บาท/ครั้ง/โรค
  • ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินผู้ป่วยนอก (กรณีอุบัติเหตุภายใน 24 ชั่วโมง) 1 ครั้ง เช่น 5,000 บาท/ครั้ง

 

  1. ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน แบบเหมาจ่ายค่ารักษารายปี

เป็นประกันสุขภาพแบบล่าสุด ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะค่าผ่าตัด หรือแม้แต่ค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ เช่น ไปนอนให้น้ำเกลือ หรือรักษาไข้หวัดใหญ่ เดี๋ยวนี้ค่ารักษาก็หลายหมื่น ถ้าเป็นประกันแบบเดิม ค่ารักษาในหมวดผ่าตัด หรือหมวดอื่นๆ ก็จะเกินแน่นอน

ดังนั้น บริษัทประกันได้เล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงออกแบบการจ่ายค่ารักษาให้แบบเหมาจ่ายต่อปี คือกำหนดวงเงินค่ารักษาต่อปีไปเลย เช่น ไม่เกินปีละ 1 ล้านบาท ก็จะหมดปัญหาเรื่องเพดานค่ารักษาเฉพาะหมวดไป (แต่ก็อาจจะมีบางหมวดที่มีเพดาน เช่น ค่าห้อง ค่าแพทย์ตรวจประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหมวดที่ค่าใช้จ่ายไม่สูง) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากได้วงเงินที่สูง เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันที่จ่ายแล้ว ถือว่าสมเหตุสมผล และใช้คุ้มครองได้ดีกว่าแบบเก่า

 

  1. ประกันโรคร้ายแรง

กลุ่มโรคที่มีโอกาสสูญเสียชีวิตสูง หรือมีผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงานของเราอย่างมาก เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเส้นเลือดในสมอง จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก และต้องรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ถ้าใช้ประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวไม่พอแน่นอน

ปัจจุบันจึงได้มีแบบประกันเพื่อคุ้มครองกลุ่มโรคร้ายแรงโดยเฉพาะ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ใช้คุ้มครองได้ดี และควรทำอย่างมาก เนื่องจากเบี้ยประกันถูก ในอายุผู้เอาประกันที่น้อยๆ (ที่เบี้ยถูก เพราะโอกาสเกิดน้อยกว่าการรักษาพยาบาลแบบอื่นๆ) และจ่ายวงเงินให้ค่อนข้างสูง

การจ่ายค่าสินไหม จะต่างจากประกันสุขภาพ ตรงที่จ่ายเป็นเงินก้อนล่วงหน้าให้เลยตามทุนประกัน ไม่ใช่จ่ายตามค่ารักษาจริง เนื่องจากเป็นโรคที่รักษาต่อเนื่อง และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาล เช่น อาจจะต้องหยุดทำงาน หรือทำงานไม่ได้เลย สูญเสียรายได้ ก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น ทำประกันโรคร้ายแรงไว้ ทุนประกัน 2 ล้านบาท หากแพทย์ตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคใดโรงหนึ่งที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ บริษัทก็จ่ายเงินให้ทันที 2 ล้านบาท ผู้ป่วยจะนำไปรักษาตัว หรือนำไปใช้จ่ายอื่นๆก็สุดแล้วแต่

 

หลักการเลือกประกันสุขภาพ

ก่อนอื่นก็ต้องดูก่อนว่า โรงพยาบาลที่เราเลือกใช้ มีค่าใช้จ่ายในแต่ละหมวดเป็นอย่างไร เช่น ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่างๆ เช่น ผ่าตัดเล็ก ผ่าตัดใหญ่ ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร

จากนั้นค่อยมาเลือกดูแบบประกัน ที่ให้ความคุ้มครองได้ครอบคลุมมากที่สุด โดยที่เราไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนต่างเอง และดูงบประมาณที่เราสามารถจ่ายได้ในแต่ละปี อาจพิจารณากันเงินสำรองฉุกเฉินเอาไว้สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ช่วยได้อีกทางหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น ทำงานบริษัทเอกชน มีสวัสดิการประกันกลุ่ม ให้ค่าห้อง 2,000 บาท/วัน แต่โรคพยาบาลแถวบ้าน ค่าห้องอยู่ที่ 3,300 บาท ก็อาจพิจารณาทำประกันที่คุ้มครองค่าห้องเพิ่มอีก 1,500 และถ้าคำนวณดูแล้ว ค่าใช้จ่ายหมวดผ่าตัด ได้แค่ 40,000 ต่อครั้ง ก็ไม่น่าจะเพียงพอ อาจพิจารณาทำเพิ่ม ให้ครอบคลุมมากขึ้น เป็นต้น

 

[notification type=”alert-danger” close=”false” ]

ประโยชน์ที่เห็นชัดเจนจากการมีประกันสุขภาพที่เพียงพอก็คือ การบริการ และวิธีการรักษาของแพทย์ เนื่องจากเวลาเราไปเข้าโรงพยาบาล เค้าจะถามก่อนเลย ว่ามีประกันไหม ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพ และวิธีการรักษาด้วย เพราะทุกอย่างเป็นธุรกิจ โรงพยาลก็กลัวว่าเราจะไม่มีเงินจ่าย หากรักษาเกินความคุ้มครองที่มี

อย่างไรก็ตาม สำคัญที่สุดคือกำลังทรัพย์ของเรา ในการซื้อประกันด้วย หากเราต้องทุ่มเงินออมทั้งหมดเพื่อจ่ายค่าประกัน เป้าหมายอื่นๆที่เรามีก็คงไม่สำเร็จ ยังไงก็จัดสรรเงินออมให้เหมาะสมนะครับ

[/notification]