ความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิต

เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต ทุพลภาพ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องเสียเงินในการดูแลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาดูกันครับว่าจะวางแผนรับมือได้อย่างไร

 

การสูญเสียชีวิต

หากเกิดกรณีจากไปก่อน จะเกิดผลกระทบทางการเงินต่อครอบครัวอย่างไรบ้าง บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็ต้องคิดว่าครอบครัวเรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ แล้วอยากดูแลพวกเค้าเหล่านั้น ไปอีกกี่ปี ถึงจะหมดห่วง รวบรวมรายจ่ายทุกๆด้านเท่าที่เป็นไปได้ เช่น ค่าเล่าเรียนลูก หนี้สินต่างๆที่ยังต้องผ่อนชำระ เป็นต้น

เช่น ปัจจบันมีลูก 1 คน อายุ 10 ขวบ รายจ่ายครอบครัว 20,000 บาทต่อเดือน อยากดูแลครอบครัว จนลูกจบปริญญาตรี (ลูกอายุ 22) ค่าใช้จ่ายการศึกษาลูก ปีละ 30,000 ก็ต้องเตรียมเงินทั้งหมด (20,000 x 12 x 12) + (30,000 x 12) = 3,240,000 บาท

ทีนี้ก็มาดูว่า เราได้เตรียมการไว้แล้วเท่าไหร่ ทรัพย์สินที่สภาพคล่องสูง หรือประกันชีวิต มีอยู่เท่าไหร่ ขาดอีกเท่าไหร่ ก็พิจารณาเตรียมเพิ่ม (โอนความเสี่ยงด้วยประกันชีวิต)

 

ทุพลภาพ

ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือเป็นโรคบางอย่างที่ทำให้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้ขาดรายได้ถาวร แต่รายจ่ายยังมีอยู่ กรณีนี้จะร้ายแรงกว่ากรณีสูญเสียชีวิต เพราะนอกจากรายจ่ายครอบครัวแล้ว ยังมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น คือค่าเลี้ยงดูตัวเอง เพราะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

การเตรียมด้านนี้ ก็ดูว่าค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูตัวเอง เดือนละเท่าไหร่ ค่ายา ค่าผ้าอ้อม ค่าจ้างคนเลี้ยงดู โดยพิจารณาว่า คนทุพลภาพส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่โดยเฉลี่ย 10 ปี

ยกตัวอย่างจากกรณีข้างต้น ถ้าค่าเลี้ยงดูตัวเองประมาณเดือนละ 50,000 (ถ้าจ้างพยาบาลดูแล ก็เดือนนึงเป็นแสนนะครับ ไม่ได้ล้อเล่น) เป็นระยะเวลา 10 ปี ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 50,000 x 12 x 10 = 6,000,000 บาท รวมกับกรณีเสียชีวิตอีก 3,240,000 บาท เป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,240,000 บาท

ถ้าจะเตรียมด้วยการซื้อประกัน ก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีทุพลภาพแยกจากเสียชีวิต เพราะช่วงที่เราทุพลภาพ บริษัทจะจ่ายเป็นค่าเลี้ยงดูรายปี (เรียกอีกอย่างว่าชดเชยรายได้) พอเสียชีวิต ถึงจะได้เป็นเงินก้อนมา ก็วางแผนให้ครอบคลุมและเพียงพอในแต่ละช่วงนะครับ

 

ค่ารักษาพยาบาล และอุบัติเหตุ

เนื่องจากว่าปัจจุบัน ค่ารักษาพยาบาลมีอัตราเพิ่มขึ้นที่สูงมาก หากต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายๆวัน คงไม่ใช่เรื่องสนุก

การเตรียมรับมือ ก็มาดูกันว่า ปัจจุบัน เรามีสวัสดิการค่ารักษาเหล่านี้ เท่าไหร่บ้าง ลองศึกษาข้อมูลตามโรงพยาบาล ว่าถ้าผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดต่างๆ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเป็นอย่างไร ที่มีอยู่พอมั้ย แล้วถ้าไม่พอ จะเตรียมเงินไว้สำหรับค่ารักษาเหล่านั้นเอง หรือจะซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม ก็แล้วแต่กำลังที่มี ขอแค่ว่าเกิดขึ้นแล้ว ไม่เดือดร้อนก็แล้วกันครับ

 

โรคร้ายแรง

โรคร้ายแรง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าร้ายแรง ทั้งในแง่ของการรักษา และค่ารักษา เพราะใช้เงินรักษาสูงกว่าโรคทั่วไป เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง ในบางโรค นอกจากการรักษาแล้ว เราอาจจะต้องหยุดงานเป็นระยะเวลาหนึ่งด้วย เช่นมะเร็ง ถ้าจะรักษาให้หาย อาจจะต้องหยุดงานยาวปีสองปีกันเลยทีเดียว อันนี้ก็ทำให้ขาดรายได้ ยิ่งหนักเข้าไปอีก ถ้าจะเตรียมกันจริงๆ คงต้องหลายล้าน เดี๋ยวนี้มีประกันโรคร้ายแรง ที่จ่ายให้เราเป็นเงินก้อน (เหมือนเป็นเงินชดเชยรายได้ส่วนหนึ่ง และเอาไว้เป็นค่ารักษาพยาบาลอีกส่วนหนึ่ง) เบี้ยประกันถูกมาก หากอายุยังน้อย ก็พิจารณาซื้อประกันลักษณะนี้ ดีกว่าเตรียมเองครับ