การวางแผนเงินสำรองฉุกเฉิน

เงินสำรองฉุกเฉินถือเป็นเงินเก็บก้อนแรกที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะในช่วงชีวิตของคนคนนึง จะต้องมีโอกาสพบเจอเหตุไม่คาดฝัน ที่จะกระทบกับการเงินเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพียงแต่เราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้นเมื่อไหร่ การมีเงินสำรองฉุกเฉิน จะช่วยให้เราผ่านเหตุการณ์ร้ายๆเหล่านั้นได้ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับเป้าหมายทางการเงินอื่นๆของเราเลย หากเราเตรียมไว้มากพอ ดังจะเห็นได้จากปิระมิดทางการเงิน ที่ให้ความสำคัญกับเงินสำรองฉุกเฉินนี้เป็นอันดับแรก ถือเป็นรากฐานสำคัญในการวางแผนการเงิน

ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ตกงาน ขาดรายได้ หากเรามีเงินสำรองฉุกเฉิน ก็สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนได้ ก่อนที่เราจะสามารถหางานใหม่ หรือกรณีน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 หลายโรงงานต้องหยุดชั่วคราว พนักงานขาดรายได้ ถ้าไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ ก็คงแย่ใช่มั้ยครับ หากเราไม่ได้เตรียมเงินสำรองฉุกเฉินไว้ ผลกระทบก็คงหนีไม่พ้นเงินเก็บด้านอื่นๆของเรา เช่น เงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ หรือการศึกษาบุตร ทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนั้นๆได้ หรือทำได้ ก็ช้ากว่าที่วางแผนไว้

หลักในการวางแผนเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน คือ ให้เรามีเงินใช้จ่าย ในกรณีที่ขาดรายได้ อย่างน้อย 3 – 6 เดือน ขึ้นอยู่กับลักษณะอาชีพ ว่าหางานใหม่ได้ยากง่ายแค่ไหน ถ้าเป็นงานที่เป็นที่ต้องการของตลาด ก็อาจสำรองไว้ 3 เดือนพอ แต่ถ้างานที่ทำ หายาก อาจต้องพิจารณาถึง 1 ปี ก็เป็นได้

นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่กรณีตกงาน ขาดรายได้อย่างเดียว เหตุการณ์ฉุกเฉินอื่นๆมีอีกมาก เช่น คนในบ้าน พ่อแม่เจ็บป่วย ไม่มีสวัสดิการ เราในฐานะลูก ก็คงนิ่งเฉยไม่ได้ การมีเงินสำรองฉุกเฉิน ก็ช่วยได้ทางหนึ่ง

[notification type=”alert-info” close=”false” ]

เงินสำรองฉุกเฉิน = รายจ่ายต่อเดือน x 6

[/notification]

เงินสำรองฉุกเฉินนั้น เราควรเลือกเครื่องมือทางการเงินที่สภาพคล่องสูง และความเสี่ยงต่ำ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถนำออกมาใช้ได้ง่าย โดยไม่ขาดทุนเงินต้น เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ เป็นต้น

เราสามารถเริ่มเก็บเงินสำรองฉุกเฉินได้ตั้งแต่วันนี้ โดยค่อยๆทยอยเก็บไปเรื่อยๆ เช่น หักเงินออมมา 1000 – 2000 ต่อเดือน ทำแบบนี้ทุกเดือน จนกว่าจะครบตามเป้าหมาย หรือถ้ามีเงินพิเศษอื่นๆ เช่น โบนัสปลายปี ก็หักมาส่วนหนึ่ง เพื่อช่วยให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น พอครบแล้ว ก็นำเงินออมส่วนนี้ ไปเติมเต็มเป้าหมายอื่นๆต่อไป เพราะเงินสำรองฉุกเฉิน เราฝากไว้ในที่ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็ต่ำไปด้วย เสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูง หากเราเก็บไว้เยอะเกินไป

กรณีตัวอย่าง

นาย A มีรายได้ 25,000 บาท ต่อเดือน มีรายจ่ายต่อเดือน 20,000 บาท สามารถเก็บออมได้ 5,000 บาท นาย A ต้องการวางแผนเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เดือน เป็นเงินเท่ากับ 20,000 x 6 = 120,000 บาท โดยวางแผนเก็บเดือนละ 2,000 และเก็บเพิ่มจากโบนัสปลายปีอีก 6,000 บาท รวมเป็น 30,000 ต่อปี นาย A ต้องใช้เวลาเก็บทั้งหมด 4 ปี ถึงจะครบตามเป้าหมาย

เห็นมั้ยครับ ทุกอย่างต้องใช้เวลา ขนาดเงินสำรองฉุกเฉิน ยังต้องเก็บกันหลายปีกว่าจะครบ เพราะฉะนั้น เริ่มตั้งแต่วันนี้นะครับ เพื่ออนาคตที่มั่นคง

ในหัวข้อถัดไป เราจะมาวางแผนจัดการความเสี่ยง เพื่อให้อนาคตทางการเงินของเรา มั่นคง และปลอดภัยกันนะครับ