สินทรัพย์ทางการเงินและการลงทุน

การใช้เงินลงทุนในสินทรัพย์เพื่อทำให้เงินของเรางอกเงย ออกดอกผลนั้น โดยหลักๆแล้วจะเป็นการลงทุนในตราสารทางการเงินต่างๆ เช่น ตราสารในตลาดเงิน หรือตลาดทุน และลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ธุรกิจ เป็นต้น

โดยในสินทรัพย์แต่ละตัวนั้น ก็มีความเสี่ยง และผลตอบแทนแตกต่างกันไป การเลือกใช้สินทรัพย์ ให้เหมาะกับเป้าหมายทางการเงินของเรา เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจให้มาก หากเลือกผิด อาจก่อให้เกิดความเสียหายตามมาได้

asset

ตราสารทางการเงิน

ตราสารทางการเงิน แบ่งตามอายุของตราสาร โดยตราสารที่อายุไม่เกิน 1 ปี จะซื้อขายกันในตลาดเงิน ส่วนตราสารที่อายุเกิน 1 ปีขึ้นไป จะซื้อขายกันในตลาดทุน

ตราสารตลาดเงิน

เป็นตราสารที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี เป็นตราสารหนี้ไม่มีหลักประกัน ผลตอบแทนน้อย แต่ความเสี่ยงก็น้อยไปด้วย ส่วนใหญ่ ใช้เป็นที่สำหรับพักเงิน เพื่อให้มีผลตอบแทนบ้าง แต่ก็ยังสู้เงินเฟ้อไม่ได้ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ ไม่เกิน 3% แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  1. ประเภทหนี้ระยะสั้น – ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง ตราสารพาณิชย์ ตั๋วสัญญาใช้เงิน การซื้อขายส่วนใหญ่ ทำโดยการหักส่วนลด
  2. ประเภทเงินออม – รู้จักกันดีคือ เงินฝากธนาคาร ได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเงินฝาก

 

ตราสารตลาดทุน

ตลาดทุน เป็นตลาดที่ใช้ในการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือภาคธุรกิจเอกชน สามารถออกตราสาร เพื่อซื้อขายในตลาดทุนนี้ เอาไว้ระดมทุนเพื่อขยายกิจการ หรือพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ

ผลตอบแทน ถ้าเป็นตราสารหนี้ จะอยู่ในรูปของดอกเบี้ย ซึ่งกำหนดแน่นอนตายตัว (Fixed Income) โดยอายุของตราสารจะเกิน 1 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ใช้เป็นการลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะกลาง (ไม่เกิน 10 ปี ข้างหน้า) โดยได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารตลาดเงิน แต่ระยะเวลาตราสาร จะนานกว่า ความเสี่ยงปานกลาง จึงเหมาะกับเป้าหมายระยะกลาง

ถ้าเป็นตราสารทุน จำพวกหุ้น หรือหน่วยลงทุน ก็จะได้ผลตอบแทนในรูปของส่วนต่างราคา และเงินปันผล (ถ้ามี) โดยขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานในธุรกิจนั้นๆ ซึ่งมีความไม่แน่นอน ความเสี่ยงสูง แต่ก็ได้รับผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว เพราะฉะนั้น ตราสารทุน เหมาะที่จะใช้สำหรับเป้าหมายระยะยาว เพราะความเสี่ยงในระยะยาวจะน้อยกว่า ส่วนใหญ่ใช้ในการวางแผนเกษียณ

  1. ประเภทหนี้ระยะยาว – ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธุรกิจ หุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในการซื้อหุ้นกู้
  2. ประเภทกึ่งหนี้กึ่งทุน – ได้แก่ หลักทรัพย์แปลงสภาพ ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในการซื้อหุ้น
  3. ประเภททุน – หุ้นประเภทต่างๆ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์
  4. ประเภทหน่วยลงทุน – ได้แก่ กองทุนรวมต่างๆ ที่มีผู้จัดการกองทุน นำเงินในกองทุนไปลงทุนตามนโยบายของแต่ละกองทุน

 

สินทรัพย์ที่จับต้องได้

สินทรัพย์การลงทุนอื่นๆที่นอกเหนือจากตราสาร จะเป็นสินทรัพย์ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ เช่น ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจ เรียกว่า Real Asset ซึ่งจะแตกต่างจากตราสารทางการเงิน ที่จับต้องไม่ได้ เรียกว่า Financial Asset

สินค้าโภคภัณฑ์

หมายถึงสินค้าที่ตัวสินค้ามีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก เมื่อพูดถึงสินค้านั้นแล้ว ก็จะเข้าใจตรงกันว่าลักษณะเป็นอย่างไร เช่น ข้าวหอมมะลิ ทองคำ ซึ่งแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ ที่มีความหลากหลาย แตกต่างกันตามแต่ละผู้ผลิต โดยการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์นั้น ผู้ลงทุนคาดหวังผลตอบแทนในรูปของส่วนต่างราคา

สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นสินค้าที่ใช้ในการผลิต หรืออุปโภคบริโภค แบ่งออกเป็น

  1. สินค้าเกษตร และปศุสัตว์ เช่น ข้าว น้ำตาล ข้าวโพด
  2. สินค้าโลหะ แบ่งเป็นโลหะอุตสาหกรรม เช่น ทองแดง อลูมิเนียม ตะกั่ว และโลหะมีค่า เช่น ทองคำ เงิน เป็นต้น
  3. สินค้าด้านพลังงาน ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ

การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ ทำได้โดย

  1. การซื้อขายโดยตรง เช่นซื้อทองจากร้านขายทอง
  2. การซื้อขายผ่านสัญญาล่วงหน้า มีอยู่ 2 ตลาด คือ AFET เป็นตลาดสำหรับสินค้าเกษตร และ TFEX เป็นตลาดสำหรับทองคำ (รวมถึงสัญญาทางการเงินอื่นๆ เช่น Index Futures, Index Options และ Stock Futures)
  3. การซื้อขายผ่านกองทุนรวม ที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์

 

อสังหาริมทรัพย์

การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ คือการลงทุนในที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ต่างๆ โดยหวังผลตอบแทนในรูปแบบส่วนต่างราคา หรือค่าเช่า

สิ่งสำคัญก็คือ ทำเลของอสังหาริมทรัพย์ที่เราลงทุน เป็นที่ต้องการของตลาด หรือใช้ทำมาหากินสร้างรายได้ดีมากน้อยแค่ไหน

จุดเด่นของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้น คือ เราสามารถควบคุมการลงทุนได้เอง เช่น กำหนดค่าเช่า ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอสังหาริมทรัพย์ให้ดูดีขึ้น พัฒนาให้เกิดกำไรที่มากขึ้นได้ และที่สำคัญคือ เราสามารถใช้เงินคนอื่น เช่น เงินกู้ธนาคาร ในการซื้อได้อีกด้วย เพราะมีหลักประกันนั่นเอง

ธุรกิจ

การลงทุนในธุรกิจ ถือเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการมาก แต่ก็แลกมาด้วยผลตอบแทนที่มากมายมหาศาล หากทำสำเร็จ ซึ่งแตกต่างจากการซื้อหุ้นในธุรกิจ ที่เราไม่ต้องไปบริหารเอง แต่เราก็ไม่สามารถควบคุมกิจการได้อย่างที่ต้องการ

ในการลงทุนนั้น ทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะสร้างธุรกิจขึ้นมาเอง โดยใช้เงินลงทุนของตัวเอง หรือระดมทุนจากคนอื่น หรือแม้แต่การซื้อธุรกิจต่อจากผู้อื่นมาบริหารต่อ ก็ทำได้ ขึ้นอยู่กับเงินลงทุน ความสามารถ ทีมงาน และตลาด