RSV .. มารู้จักโรคนี้กันเถอะ

ไวรัส RSV คืออะไร

Respiratory Syncytial virus หรือ RSV เป็นเชื้อไวรัสที่รู้จักกันมานานแล้วในวงการแพทย์ จริงๆ แล้วไวรัส RSVพบครั้งแรกตั้งแต่ปี 1955 (พ.ศ. 2498) ซึ่งมีการตรวจพบในลิงชิมแปนซีที่เกิดอาการป่วยจากหวัด ต่อมาไม่นานก็พบว่าสามารถติดต่อได้ในมนุษย์ และเป็นสาเหตุของอาการหรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก

ร่างกายได้รับไวรัส RSV ได้อย่างไร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไวรัสชนิดนี้จะพบมากและเจริญเติบโตได้ดีในช่วงที่มีอากาศชื้นโดยเฉพาะหน้าฝนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน  ไวรัส RSV ติดต่อกันได้ง่ายๆ เพียงการสัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งทางตาหรือจมูก และทางลมหายใจ ดังนั้นในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นหวัดจึงเสี่ยงต่อการรับและแพร่กระจายเชื้อไวรัสนี้มาก และเด็กเล็กสามารถได้รับเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว โดยเชื้อ ไวรัส RSV มีระยะฟักตัวประมาณ 2 – 6 วัน

ไวรัส RSV ทำให้เกิดอาการอย่างไร
RSV ก่อโรคในทางเดินหายใจ แบ่งอาการเป็น 3 กลุ่มคือ
1  ทางเดินหายใจส่วนต้นอักเสบ ทำให้มีอาการคล้ายหวัด มีไข้ มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล คออักเสบ
2  ทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ ซึ่งมักเป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ในบางรายมีอาการรุนแรง ไข้สูง หอบเหนื่อย ซึ่งมีสาเหตุมาจาก ไวรัส RSV ตั้งแต่ 40 –90 % รวมไปถึงปอดบวมอาการรุนแรงมากในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี
3  กลุ่มอาการตายเฉียบพลันในทารก (sudden infant death syndrome, SIDS) พบการตายโดยไม่ทราบสาเหตุแต่สงสัยว่าไวรัส RSV อาจมีส่วนร่วมด้วย
ต่างจากหวัดธรรมดา
เด็กที่เป็นหวัดธรรมดาจะมีอาการเป็นแบบหวัด มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล กินน้ำ กินนมได้ อาจกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วย ซึ่งจะหายได้ใน 5-7 วัน แต่อาการที่เกิดจากไวรัส RSV คือ อาการหอบ เหนื่อย บางคนหอบมากจนเป็นโรคปอดบวม หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรงจนหน้าอกโป่ง หายใจออกลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ดแบบหลอดลมฝอยอักเสบ บางรายไอมากจนอาเจียน ซึมลง ตัวเขียว กินข้าว กินน้ำ กินนมไม่ได้
รักษาอย่างไร
ตอนนี้ไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกัน ไวรัส RSV รวมถึงไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อเด็กได้รับไวรัสนี้จึงต้องรักษาตามอาการ เช่น ระวังการขาดน้ำเพราะจะยิ่งทำให้เสมหะเหนียวข้นและเชื้อลงปอด อาจต้องใช้ยาพ่นร่วมกับ oxygen เพื่อช่วยขยายหลอดลม รับประทานยาลดไข้ตามอาการทุก 4 – 6 ชั่วโมงพร้อมกับเช็ดตัวลดไข้ นอนพักผ่อนเยอะๆ ร่างกายก็จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ใช้เวลาประมาณ 7 – 14 วัน จึงจะหาย แต่หลังจากหายแล้ว หลอดลมและถุงลมฝอยของเด็กจะมีอาการอักเสบได้ง่ายเมื่อติดเชื้อครั้งใหม่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเป็นพิเศษทั้งเรื่องอาหารและการออกกำลังกายในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
แนวทางการป้องกัน
การป้องกันคือ การล้างมือให้เด็กเล็กบ่อยๆ และพี่เลี้ยงเด็กก็ต้องล้างมือบ่อยๆ เช่นกัน เมื่อมีเด็กป่วย หากเป็นไปได้ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน แต่หากไม่สามารถรับกลับบ้านได้ ให้แยกเด็กและแยกเครื่องใช้ของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
ไวรัสตัวนี้น่ากลัวนะคะ เพราะถ้ามองเผินๆ คุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดว่าน้องเป็นหวัดธรรมดา แต่ถ้าไม่สังเกตอาการให้ดีและปล่อยไว้นานอาจจะกลายเป็นโรคร้ายที่อันตรายต่อชีวิตเด็กๆ ได้ค่ะ ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ มีโอกาสที่จะเกิดซ้ำอีกได้ถ้าน้องๆ ร่างกายอ่อนแอ ซึ่งจะกระตุ้นอาการหอบจนทำให้เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังในที่สุดคะ

images

Cr. http://www.tinyzone.tv/HealthDetail.aspx?ctpostid=2783

You may also like...