อุบัติเหตุทางการเงิน และการรับมือ

วันนี้ขอเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเองนิดนึง ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ และหลายๆคนก็คงเคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาแล้วเหมือนกัน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หลังจากได้ไปพบลูกค้าแถว รพ.บำรุงราษฏร์ กำลังจะขึ้นทางด่วนกลับบ้าน ก็ปรากฎว่า รถดับไปเฉยๆ สตาร์ทก็ไม่ติด พ่วงแบตแล้วก็ยังไม่ได้ เลยต้องเรียกรถลากของทางหลวง (ซึ่งบริการฟรี) เพื่อไปอู่ที่ใกล้ๆ โดยพี่ๆตำรวจก็ใจดีคอยประสานงานให้

เนื่องจากรถยนต์ เป็นรุ่นที่ซ่อมยาก เดิมจะมีอู่ประจำที่ฝีมือดีมากๆ แก้ได้ตรงจุดทุกครั้ง ทีเดียวจบ แต่เนื่องจากอู่นี้ อยู่ไกล และตอนนั้นดึกแล้ว ประกอบกับอาการของรถ น่าจะเป็นที่ไดชาร์จ ชาร์จไฟไม่เข้าแบตเตอรี่ ก็ไม่น่าแก้ยากอะไร ก็เลยไปอู่ที่คนลากรถแนะนำ ผลปรากฏว่า ไปถึง เจ้าของร้านบอกว่าให้ทิ้งไว้ เดี๋ยวพรุ่งนี้เช้าดูให้ เพราะดึกแล้ว เราก็คิดไม่ทัน ก็เลยโอเคทิ้งไว้

วันรุ่งขึ้น อู่โทรมาแจ้งอาการ และค่าซ่อมให้เสร็จสรรพ ฟังราคาแล้วก็ตกใจ เพราะผิดจากที่เราคาดไว้ เลยลองโทรถามอู่ประจำ ว่าเปลี่ยนอะไหล่ตัวนี้เท่าไหร่ (ไม่ได้บอกอู่ประจำนะครับ ว่ารถซ่อมอยู่ที่อู่อื่น) ก็ปรากฏว่าอู่ประจำถูกกว่าพันกว่าบาท ในใจก็คิดว่าถ้าเปลี่ยนอู่ ก็ต้องเรียกรถลากมา เสียเงินอีกพันสองพัน ก็เลยซ่อมที่อู่แรกไป

ทีนี้ได้เรื่อง พอตกลงซ่อม ก็ออกลายเลย เดี๋ยวนั่นเสีย โน่นเสีย ลามไปถึงแอร์ไม่เย็น! ผมเลยโมโห ซ่อมแค่ไดชาร์ท ให้พอวิ่งได้ แล้วก็ขับไปให้อู่ประจำจัดการซ่อมให้ทีเดียวจบ

บทเรียนจากเรื่องนี้ที่อยากฝากไว้ก็ เรื่องแรก การไว้วางใจในผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะด้านไหนก็แล้วแต่ หากเราเจอ และพิสูจน์แล้วว่าคนนั้นของจริง ก็ใช้บริการกับเค้า อย่าไปเปลี่ยน เพราะผลที่ได้อาจบานปลายเสียน้อยเสียยาก อย่างในกรณีของผม

ส่วนเรื่องที่สอง อันนี้ถือว่าสำคัญมากในเรื่องการวางแผนการเงิน นั่นก็คือเงินสำรองฉุกเฉินนั่นเอง

ในกรณีนี้ หากผมไม่ได้เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน ที่สามารถถอนได้ง่ายๆ และความเสี่ยงต่ำ ก็คงจะแย่ เพราะอาจจะต้องนำเงินจากพอร์ตเกษียณ หรือเงินลงทุนอื่นๆมาจ่าย ซึ่งกระทบกับเป้าหมายทางการเงินนั้นๆ แถมบางทีอาจจะขาดทุนอยู่ ต้องจำใจขายออกมากก่อนก็เป็นได้ บางคนไม่เก็บสำรองฉุกเฉินไว้เลย เอาไปใส่ในหุ้น ในกองทุน ซื้อที่ดิน ซื้อทองเก็บไว้หมด สุดท้ายเกิดเหตุให้ต้องใช้จ่ายเงิน ก็ต้องขายขาดทุน เห็นถมเถไป

เพราะฉะนั้น เงินสำรองฉุกเฉิน ถือเป็นเครื่องมืออันดับต้นๆ ที่เราควรให้ความใส่ใจ เพราะสามารถช่วยให้เรารับมือกับอุบัติเหตุทางการเงิน อย่างในกรณีของผมได้เป็นอย่างดี

การวางแผนเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน ก็วางเป้าหมายให้เหมาะสมกับชีวิตของเรา อย่างน้อยควรมี 6 เท่า ของรายจ่ายต่อเดือน ถ้าคนที่ใช้รถ ก็กันเงินค่าซ่อมไว้เพิ่มด้วย ใครมีบ้านเช่า ก็ให้กันเงินสำรองผ่อนธนาคารอย่างน้อย 6 เดือน กรณีหาคนเช่าไม่ได้ หรือถ้ามีธุรกิจ ก็ต้องมี กระแสเงินสด ไว้หล่อเลี้ยงให้ธุรกิจอยู่รอด จะ 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็สุดแล้วแต่

ใครไม่มี ถือว่ามีความเสี่ยงทางการเงิน และเป็นรอยรั่วที่ต้องรีบอุด

วันนี้ เรากันเงินสำรองไว้เท่าไหร่กันแล้ว ?

 

You may also like...